Tuesday, January 27, 2015

ใกล้ตาย จึงนึกถึงพระ มีทุกข์มาถึง จึงนึกถึงพระศาสนา

บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว มักไม่เห็นคุณพระศาสนา
มัวเมาประมาท ปล่อยกายปล่อยใจ ให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำนิสัย
เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ
จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

Sunday, January 25, 2015

ทิ้งเสีย

สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า

คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆ ที่สมัย ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง ๑๐๐ วันบ้าง แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ

ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ

หลวงปู่บอกว่า

"ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม"


ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

ตัวอย่างเปรียบเทียบ (เต่ากับปลา)

มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลก คือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด

วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟังว่า มันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ

ปลาพากันฟังด้วยความสนใจและอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า "บนบกนั้นลึกมากไหม"

เต่า: มันจะลึกอะไร ก็มันบก

ปลา: เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม

เต่า: มันจะคลื่นอะไร ก็มันบก

ปลา: เอ บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม

เต่า: มันจะมีอะไร ก็มันบก

ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

"จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา"


ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

"ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Saturday, January 24, 2015

โลกนี้มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั่นเอง

บางครั้งที่หลวงปู่สังเกตเห็นว่า ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจ เสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน จนไม่อยากละมาปฏิบัติธรรม ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า

"ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุขว่าตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น

พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาความสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัย หาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

นิทาน - กับดักแห่งความสุข

หนูตัวหนึ่งตกลงไปในถังข้าวสาร มันคิดว่าเรานี่โชคดีสุดๆ ไปเลย

ด้วยความดีใจ มันกินข้าวสารในถังนั้นอย่างอิ่มหมีพีมัน กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน เป็นอยู่อย่างนี้หลายวัน

วันแห่งความสุขมักผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอ วันหนึ่งตอนที่มันกินจนเห็นพื้นของถังข้าวสาร มันฉุกใจคิด แต่ข้าวสารในถังก็เป็นสิ่งที่ยั่วยวนเหลือเกิน มันกินจนข้าวสารในถังหมดไป

ถึงตอนนี้ มันจึงเพิ่งรู้ตัวว่า

การปีนออกจากถัง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป...

Friday, January 23, 2015

อยากได้ของดี

เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะนมัสการหลวงปู่เมื่อเวลา ๑๘.๒๐ น.

หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า
"ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ"

หลวงปู่จึงเจริญพรว่า "ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจาก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง"

"ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ"

หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า

"ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Tuesday, January 13, 2015

เนื้อกับเกลือ

...ทานจะเป็นทานบารมีที่ถูกต้อง ก็อาศัยการภาวนา  ศีลที่จะถูก ต้องอาศัยการภาวนา ภาวนานี้ท่านวาให้มันคุ้ม

ทานหรือศีลก็เหมือนกับเนื้อ   ภาวนาเหมือนกับเกลือ เนื้อมันจะอยู่ได้ มันไม่เน่าก็เพราะเกลือ ทานที่ถูกต้อง ศีลนั้นที่ถูกต้อง ก็เพราะการภาวนา

ฉะนั้น การภาวนานี้จึงเป็นคุณค่าอันล้ำเลิศประเสริฐมากที่สุดท้ายของบารมีทั้งหลายนั่นเอง แต่คนเราทานก็ได้ รักษาศีลก็ได้ แต่ว่าไม่ค่อยจะสมบูรณ์แบบ เพราะว่าขาดการภาวนา ขาดการภาวนา ภาวนานั้นเรียกว่า เป็นตัวเริ่มจะเป็นวิปัสสนา เพื่อจะให้มันรู้แจงแทงตลอดก็เพราะการภาวนา...

ที่มา: บางส่วนจากพระธรรมเทศนา "กุศลอันเลิศ"
หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

หลักปฏิบัติชั้นยอดที่สุด

ถ้าจะเอาดีกับพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ยึดพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  พยายามปฏิบัติศีล ๕ ให้มันถูกต้อง อยู่กันที่ตรงนี้  ไม่ต้องไปไขว่คว้าอะไรให้มันมากนัก

           ๑. รักษาศีล ๕
           ๒. ทำกิจวัตร อุปัฏฐากเลี้ยงดูบิดามารดาให้ดี
           ๓. ฝึกสติสัมปชัญญะ ให้รู้อยู่ที่จิตตลอดเวลา  ถ้าเรามีสติรู้อยู่ที่จิต นั่นแหละ คือ พุทธะ ผู้รู้  พุทธะ ผู้ตื่น  พุทธะ ผู้เบิกบาน
 
ถ้าจับจุดนี้ได้แล้วสบายมาก ไปที่ไหนเราก็ไปกับพระพุทธเจ้า นั่ง นอน กิน อยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา  คนทั้งหลายศึกษาธรรมะ ไม่รู้จักจุดมัน ไม่รู้จักจุดที่จะเอาดี

เราต้องเอาดีกันตรงนี้ ตรงที่มีสติรู้จิตตลอดเวลา  ผู้ที่มีสติรู้จิตตลอดเวลา เป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ

เมื่อทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้นตลอดเวลา ชื่อว่ามีพระธรรมอยู่ในใจ

เมื่อมีพระธรรมอยู่ในใจ พระธรรมก็คอยเตือนให้เรารู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  เราจะตั้งใจละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ

อันนี้คือหลักปฏิบัติชั้นยอดที่สุด

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

อย่ากลัวติดสมถะ (ความสงบ)

...สมาธิขั้นสมถะนี่ต้องเอาให้ได้ ต้องพยายามบริกรรมภาวนาเอาให้ได้ ให้จิตสงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ นิวรณ์ ๕ หายไป ความฟุ้งซ่านรำคาญหายไป มีแต่ปีติและความสุขบังเกิดขึ้นในจิต

จิตมีปีติและความสุขเป็นภักษาหาร ผู้ภาวนาย่อมอยู่อย่างสงบเยือกเย็น หาความสุขอันใดจะเทียมเท่าความสงบจิตที่ประกอบด้วยปีติและความสุขไม่มีแล้วดังนั้น อย่ามองข้ามความสงบ อย่ามองข้ามสมาธิ ต้องให้เอาสมาธิให้ได้อย่าไปกลัวจิตจะติดสมาธิ ถ้าจิตไปติดความสงบ ติดสมาธิ ดี ดีกว่าไปติดอย่างอื่น ให้มันติดสมาธิ ติดความสงบเอาไว้ก่อน อย่าไปกลัว

บางทีบางท่านภาวนาพุทโธแล้วกลัวจิตจะติดสมถะ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่เคยเป็นสมถะ จิตยังไม่สงบเป็นสมถะ ยังไม่สงบเป็นสมาธิ แต่ไปกลัวจิตจะติดเสียก่อนแล้ว ในเมื่อเกิดกลัวขึ้นมา จิตก็ไม่เป็นสมาธิ เมื่อไม่เป็นสมาธิ วิปัสสนาก็ไม่มี ต้องเอาจิตให้เป็นสมาธิก่อน อันนี้สำหรับผู้ปฏิบัติเบื้องต้น ต้องยึดอันนี้เป็นหลัก...

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

ภาวนา "พุทโธ"

ตอนแรกๆ อย่าลืมว่า อุบายวิธีการต่างๆ ที่ท่านวางแนวเอาไว้นี่  เป็นการฝึกจิต ให้ติดกับอารมณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เหนียวแน่นก่อน เช่นอย่างคำว่า พุทโธๆๆๆ  ก็ฝึกจิตให้ติดอยู่กับคำว่า พุทโธ เมื่อมันมาติดอยู่กับ พุทโธ มันก็ทิ้งสิ่งที่พะรุงพะรังทั้งหลาย   ก็มาอยู่ที่พุทโธ  แล้วบางทีในที่สุด เวลากระทบอารมณ์พับ แทนที่มันจะวิ่งไปยุ่งกับเรื่องนอก  มันวิ่งเข้าหาพุทโธ
 
เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนานี่มันก็ได้ผล  คือมันตัดสิ่งกังวลรอบข้างออกหมด  มันมาอยู่กับ พุทโธ คำเดียว

ทีนี้ปัญหามีว่า ถ้าเราไม่ภาวนาพุทโธ ไม่นึกถึงพระพุทธเจ้า  มันจะเป็นภาวนาได้อย่างไร  ใครๆ ก็อาจจะสงสัย

พุทโธ คือ ผู้รู้ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตอยู่ จิตของเราก็เป็นจิตพุทธะคือพุทโธ  ถ้าจิตของเรามีสติสัมปชัญญะเข้มแข็ง สมาธิมั่นคง มันก็เป็น พุทโธ

ผู้ตื่น ทีแรกเป็น พุทโธ ผู้รู้ คือ รู้สึกตัว  เมื่อมีพลังเข้มแข็งขึ้น จะเป็น พุทโธ ผู้ตื่น  ตื่นตัว เตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา  เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตแกล้วกล้าอาจหาญ ก็เป็นผู้เบิกบานเต็มที่

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

Monday, January 12, 2015

คำบริกรรม - ลมหายใจ

ถาม : การบริกรรมพุทโธกับการดูลมหายใจแบบไหนสามารถไปได้ดีกว่ากันครับ ผมไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติแบบไหนดีกว่า ผมสับสนครับ จิตสงบแค่ตอนแรกๆ
ทั้งสองวิธี

พระอาจารย์ : ก็ได้วิธีไหนก็ได้วิธีใดทำให้จิตสงบก็ได้ทั้งนั้น เพราะว่าการทำจิตให้มันสงบนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ถึง ๔๐ วิธีด้วยกันที่เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ วิธีสองวิธีนี้อยู่ในกลุ่มของอนุสติ เช่น ดูลมหายใจก็เรียกว่าอานาปานสติ

ถ้าบริกรรม "พุทโธ" ก็เรียกว่าพุทธานุสติ

ถ้าระลึกถึงพระธรรมคำสอน หรือท่องบริกรรม "ธัมโม" ก็เรียกว่า ธัมมานุสติ

สังฆานุสติ ก็ระลึกถึงพระสงฆ์หรือระลึกถึงคำว่า "สังโฆ"

ดังนั้นวิธีไหนก็ได้เป็นอุบายที่จะนำใจให้เข้าสู่ความสงบได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจริตของคนนี้อาจจะมีความชอบ มีความถนัดในกรรมฐานที่ไม่เหมือนกัน

บางท่านก็ถนัดกับการดูลมหายใจ ก็ดูลมหายใจไป บางท่านถนัดกับการบริกรรมพุทโธ ก็บริกรรมพุทโธไป บางท่านก็ชอบผสมกันเช่น เอาทั้งพุทโธเอาทั้งลมหายใจ เวลาลมหายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ อันนี้ก็ได้ทั้งนั้นสุดแท้แต่จริต การกระทำแบบไหนไม่สำคัญ สำคัญว่าได้ผลหรือไม่ และจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนี่บางครั้งก็ไม่ได้อยู่ที่การใช้แบบใดแบบหนึ่ง การที่ไม่ได้ผลส่วนใหญ่ ก็เพราะว่าไม่มีสตินั่นเอง ไม่ได้อยู่กับการบริกรรมอย่างจริงจัง อยู่กับพุทโธได้สองสามคำแล้วก็ลอยไปคิด เรื่องนั้นเรื่องนี้ อยู่กับลมได้สองสามเฮือกก็หายไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าทำอย่างนี้แล้วต่อให้ใช้กรรมฐาน แบบไหนก็จะไม่เกิดผล

จะเกิดผลก็ต่อเมื่อจิตเราจดจ่ออยู่กับงานที่เรากำหนดให้จิตทำ ถ้าให้ดูลมก็ต้องดูลมอย่างเดียว ถ้าบริกรรมพุทโธก็ต้องบริกรรมพุทโธไปอย่างเดียว ไม่ให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย

ที่มา: “ยาของพระพุทธศาสนา”
ธรรมะบนเขา วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี

Monday, January 5, 2015

ทุกข์เพราะอะไร

สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ พรรณนาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย

หลวงปู่ก็แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น

เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า

"คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

ง่าย แต่ทำได้ยาก

คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ นำโดยคุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่าและกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ทางภาคอีสาน ได้แวะกราบนมัสการหลวงปู่

หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนก็ต่างออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง

มีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณสี่ห้าคน เข้าไปกราบขอให้หลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด

หลวงปู่บอกว่า  "อย่าส่งจิตออกนอก"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

ปรารภธรรมะให้ฟัง

มิใช่ครั้งเดียวเท่านั้นที่หลวงปู่เปรียบเทียบธรรมะให้ฟัง มีอยู่อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ว่า

"ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้ ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรคจึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้

ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ เช่น ไอน์สไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จักพระนิพพาน จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้

จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้น จึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Sunday, January 4, 2015

คนเลี้ยงไก่

มีคนเลี้ยงไก่ ๒ คน

คนที่ ๑ ทุกเช้าจะเอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วก็เก็บ "ขี้ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน
แล้วทิ้งไข่ไก่ให้เน่าไว้ในโรงเรือน
เมื่อเขาเอาขี้ไก่กลับถึงบ้าน ทั้งบ้านก็เหม็นหึ่ง ไปด้วยกลิ่นขึ้ไก่ คนทั้งบ้านต้องทนกับกลิ่นเหม็น

คนเลี้ยงไก่คนที่ ๒ เอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ เก็บ "ไข่ไก่" ใส่ตะกร้าเอากลับบ้าน
เขาเอาไข่ไก่ลงเจียว กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้าน คนทั้งบ้านได้กินไข่เจียวแสนอร่อย ไข่ไก่ที่เหลือเขาก็
เอาไปขาย แล้วได้เงินมาใช้จ่ายในบ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุขมาก

ในชีวิตของเรา พวกเรา เป็นคนเก็บ "ไข่ไก่" หรือ เก็บ"ขี้ไก่"

เราเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่" โดยเฝ้าแต่เก็บเรื่องร้ายๆ  แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเราไว้ในหัวของเรา และมี
ความทุกข์ตลอดเวลาที่คิดถึงมัน

หรือเราเป็นคนที่เก็บ "ไข่ไก่" เราจดจำสิ่งที่ดีๆ ที่เกิดในชีวิตของเรา และมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึงมัน

คนเราส่วนใหญ่ชอบเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่"
เราถึงต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา เรื่องความเสียใจ ความผิดพลาด ความเจ็บใจ ฯลฯ มักจะติดอยู่ในใจ
ของเรานานเท่านาน

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

Friday, January 2, 2015

พุทธศาสตร์ - วิทยาศาสตร์

พระอุปัฏฐากหลวงพ่อชารูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์เขามากราบหลวงพ่อ ตอนนั้นผมอยู่ที่กุฏิหลวงพ่อด้วย เขาบอกว่า พุทธศาสนาไม่มีอะไรที่พิสูจน์ได้ คงจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร วิทยาศาสตร์เขาดีกว่า ทำอะไรเขาก็พิสูจน์ได้เยอะ ทำอะไรออกมาก็ปรากฏให้เห็นได้ พุทธศาสนาพิสูจน์ไม่ได้”

หลวงพ่อตอบว่า

“เฮ้ย เรายังไม่ทันถึงพุทธศาสตร์ก็ได้เว้ย ก็เหมือนกับว่ามือเรามันสั้น แต่รูมันลึกลงไป เราล้วงมือลงไป มือมันสั้น มันสุดแค่นี้ แต่รูมันยังลึกเข้าไปอีก เราจะปฏิเสธว่า เอ๊ะ รูมันหมดแค่นี้เอง มันจะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือเปล่า ความจริงมือเรามันสั้น เราไม่ได้คิดว่ารูมันลึกเข้าไปกว่านั้น

หรือบางทีสายตาของเรามันสั้น เหมือนกับว่า เครื่องบินมันบินไป เครื่องบินนั้นมีอยู่ แต่สายตาของเรามันหมดเสียก่อน ก็เลยไม่เห็นเครื่องบิน แต่เครื่องบินมันยังมีและยังบินไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งปฏิเสธว่ามันไม่มี...