Monday, June 29, 2015

หยุดเพื่อรู้

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติ ได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งเพื่อสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเองให้เข้าถึงสัจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า

"คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้
ต่อเมื่อหยุดคิดได้ จึงรู้
แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละ จึงรู้"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Wednesday, April 15, 2015

จริง แต่ไม่จริง

ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สวรรค์ วิมานเทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ

หลวงปู่บอกว่า

"ที่เขาเห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Tuesday, March 24, 2015

ก้าวสู่วิปัสสนา

เหมือนกับเด็กของเรามันได้ลูกโป่งมันก็วางอย่างอื่นซะ การเล่นอย่างอื่นมันก็วางไป สงบหมดอารมณ์อย่างอื่น มันก็เล่นลูกโป่งของมันสบาย นี่มันอยู่แล้วนี่จิตสงบแล้ว สงบแค่นี้นะ  สงบแค่ว่าเด็กที่มันมีลูกโป่งจิตใจมันก็พัวพันอยู่ในลูกโป่งอันนั้น จิตมันก็สงบ ความสงบเช่นนี้ไม่พอนะ เด็กมันเห็นลูกโป่งนั้นลอยอยู่บนอากาศเท่านั้น มันสบายใจมัน มันไม่ได้นึกว่าต่อไป ลูกโป่งมันจะแตกหรือไม่ มันไม่ได้คิด มันก็เห็นลูกโป่งลอยอยู่กลางอากาศมันก็สบาย เท่านี้ นี่เรียกว่าสมถะ มีความสงบแล้วนะ

ที่นี้วิปัสสนานั้น คือทำปัญญาให้มันยิ่งไปกว่านั้น รู้จักลูกโป่งว่ามันจะเป็นยังไง มันจะได้เห็นลูกโป่ง ต่อไปมันจะแตกไหมหนอ อะไรต่ออะไรเหล่านี้จนให้มันเห็นในใจของมันว่าต่อไปมันเป็นของไม่เที่ยง ลูกโป่งมันของแตกแน่นอนเลย ผลที่สุดมันจะต้องแตก ปัญญามันพุ่งไปโน้น ไอ้สมถะนี้ไม่มีปัญญาเห็นลูกโป่งมันลอยอยู่บนอากาศ มันก็เล่นอยู่นั่นแหละ เมื่อลูกโป่งแตกโพละมันก็ร้องไห้ ทำไมมันไม่ได้คิดมีปัญญาเลยว่าลูกโป่งมันจะแตกหรือยังไง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ได้ดู มันเห็นแต่เพียงว่าลูกโป่งน่ะมันได้ใจของมันแล้ว มันก็ลอยอยู่ มันสบายใจของมัน นี่เรียกว่าสมถะ ความสงบของสมถะ สมาธินี่ก็สงบแต่ว่ากิเลสมันมีอยู่ แต่ว่าเวลานั้นมันไม่มีกิเลส ในเวลานั้นในเดี๋ยวนั้น ในจิตนั้นมันปราศจากกิเลส จิตมันจึงไม่วุ่นวาย มันเป็นสงบอยู่เหมือนกันกับลูกโป่งในเวลานั้น มันยังมีลมอยู่มันก็ยังลอยอยู่บนอากาศนั่นเอง เพื่อให้เด็กดีใจอยู่ ของปลอมๆเท่านั้น อันนี้เรียกว่าสมถะก็เหมือนกันฉันนั้น

ที่มา: "ความผิดในความถูก" หลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

Sunday, February 22, 2015

พ่อหนู

การที่หลวงพ่อมาพำนักในป่าพงนั้น สร้างความยินดีให้แก่หมู่ญาติพี่น้องและชาวบ้านที่ เลื่อมใสศรัทธามาก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสต่อต้านจากชาวบ้านบางส่วนเหมือนกัน จึงมี ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นเสมอ

            วันหนึ่ง ชาวบ้านบางคนไปพูดใส่ร้ายหลวงพ่อว่า "เป็นพระหวงน้ำ" ไม่ยอมให้ชาวบ้าน เอาถังลงตักน้ำในบ่อ พอดีเรื่องนี้รู้ไปถึงพ่อหนู ผู้นิยมประคารมกับพระ และเคยมาฟังธรรมจาก หลวงพ่อหลายครั้ง แต่ก็ยังคิดและพูดโต้แย้งอยู่เสมอ

            วันนั้น เมื่อมีคนมาพูดเรื่องหลวงพ่อหวงน้ำให้ฟัง พ่อหนูโกรธมากจึงกล่าวกับเพื่อน "พระอะไร? แค่น้ำในบ่อก็หวง ถึงขนาดไม่ยอมให้ตัก ทีข้าวชาวบ้านล่ะ ทำไมมาบิณฑบาตเอาของเขา ไปทุกวัน... ยังงี้ไม่ได้ ๆ ทำไม่ดีอย่างนี้ จะต้องไปถามดู ถ้าเป็นความจริง จะนิมนต์ให้หนีไปอยู่ที่อื่น" ว่าแล้วก็ผลุนผลัน เดินตรงไปวัดหนองป่าพง

พอมาถึงวัดก็เข้าไปหาหลวงพ่อ แล้วคาดคั้นเอาความจริง หลวงพ่อจึงอธิบายให้ฟัง

            "ที่ไม่ให้ตักน้ำในบ่อ ก็เพราะว่า ชาวบ้านชอบเอาถังที่ขังกบ ขังปลามาตักน้ำ ทำให้น้ำ สกปรก ถ้าใช้ถังสะอาด ๆ ก็จะไม่ว่าอะไร จึงต้องเขียนป้ายติดไว้ว่า บ่อน้ำนี้สำหรับพระ ห้ามโยมใช้ แต่อาตมาก็ได้ตักน้ำใส่โอ่งไว้ให้ชาวบ้านได้ดื่มได้ใช้แยกไว้ต่างหากด้วย ไม่ใช่จะห้ามกัน อย่างเดียว"

            พ่อหนูรู้ความจริงเช่นนั้น ก็คลายความไม่พอใจลงบ้าง แต่ก็ยังไม่เคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อนัก

            หลังจากสนทนากันไปหลายเรื่อง หลวงพ่อได้บอกพ่อหนูว่า "มีอะไรก็ให้พูดอย่างเปิดอก ไม่ต้องเกรงใจ จะได้รู้เรื่องกันสักที"

            "ถ้าผมพูดอย่างเปิดอก เกรงว่าหลวงพ่อจะโกรธผม เพราะคำพูดของผมมันไม่เหมือน คนอื่นเขา" พ่อหนูออกตัว

เมื่อหลวงพ่อเปิดทางให้ พ่อหนูซึ่งรอโอกาสนี้มานานแล้ว จึงนึกในใจว่า... เมื่อท่านรับรอง เช่นนี้ หากเราพูดแรง ๆ ไป ถ้าท่านโกรธเราจะต่อว่าให้สาสมเลยว่า พระกรรมฐานอะไร ช่างไม่มี ความอดทนเสียเลย แล้วพ่อหนูก็เริ่มระบายความเห็นออกมา...

            "หลวงพ่อเคยพูดว่า ผมเป็นคนหลงผิด แต่ผมว่า หลวงพ่อนั่นแหละหลงผิดมากกว่า เพราะศาสนาทุกศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้น สมมุติขึ้น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อตาม และของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีแต่ของสมมุติทั้งนั้น เช่น ควาย นี่เราก็สมมุติชื่อให้มัน ถ้าเราจะเรียกมันว่าหมูก็ได้ ควายก็ไม่ว่าอะไร... คน สัตว์ สิ่งของทุกอย่างก็สมมุติเอาทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาก็เป็นเรื่องสมมุติเหมือนกัน ทำไมหลวงพ่อจะต้องกลัวบาปกรรม จนต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปทรมานร่างกาย ให้ลำบากเปล่า ๆ

            ผมไม่เชื่อเลยว่า บาปบุญ มีจริง ๆ เป็นเรื่องหลอกเด็กมากกว่า กลับไปอยู่วัดตามบ้านตาม เมืองเหมือนพระอื่น ๆ เสียเถอะ หรือทางที่ดีก็ควรสึกออกมาซะ จะได้รับความสุขและรู้รสกาม ดีกว่าอยู่อย่างทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร"

            พ่อหนูสรุปแนวความคิดของตน แล้วถามหลวงพ่อ "ผมคิดของผมอย่างนี้... หลวงพ่อล่ะ มีความเห็นอย่างไร?"

           หลังจากปล่อยให้พ่อหนูพูดจนสมใจแล้ว หลวงพ่อซึ่งนั่งนิ่งรับฟังอยู่นาน จึงกล่าวขึ้น "คนที่คิดอย่างโยมนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง โปรดไม่ได้หรอก เหมือนบัวใต้ตม... ถ้าโยมหนูไม่เชื่อว่า บาปมีจริง ทำไมไม่ทดลองไปลักไปปล้น หรือไปฆ่าเขาดูเล่า จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร"

            "อ้าว..! จะให้ผมไปฆ่าเขาได้อย่างไร เดี๋ยวญาติพี่น้องเขาก็ตามล่าผม หรือไม่ก็ติดคุกนะซิ"

            "นั่นแหละผลของบาปรู้ไหม"

            พ่อหนูชักลังเล เมื่อเจอเหตุผลอย่างนี้ แต่ยังกล่าวแบบไว้เชิงว่า... "บางทีบาปอาจจะมีจริง ก็ได้ แต่บุญล่ะ... หลวงพ่อมาอยู่ป่าทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญตรงไหนเลย?"

            "โยมหนูจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง ที่อาตมาประพฤติตาม พระธรรมวินัยอยู่เช่นนี้ ถ้าบาปไม่มี บุญไม่มี.. ก็เสมอทุน แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาจะได้กำไร.. คนหนึ่งเสมอตัวหรืออาจได้กำไร กับคนที่มีแต่ทางขาดทุน ใครจะดีกว่ากัน"

            พ่อหนูเริ่มคล้อยตามบ้าง จึงเผยความนึกคิดแท้จริงของตนเองออกมา... "ไอ้เรื่องบาปเรื่องบุญนี้ ผมคิดจนปวดศีรษะมานานแล้ว จะเชื่อก็ยังไม่แน่ใจ ไปถามพระรูปไหน ก็พูดให้ผมเข้าใจ ไม่ได้ แต่ที่หลวงพ่ออ้างเหตุผลมานี่ ผมก็พอจะรับได้บ้าง แต่ถ้าบาปบุญไม่มีจริง หลวงพ่อจะให้ผม ทำอย่างไร?"

            "ทำยังไงก็ได้" หลวงพ่อตอบ

            "ถ้าบาปไม่มีจริง ผมตายไป ผมจะมาไล่เตะท่านนะ ?"

            "ได้! แต่ข้อสำคัญ โยมหนูต้องละบาป แล้วมาบำเพ็ญบุญจริง ๆ จึงจะรู้ได้ว่าบาปบุญมีจริงหรือไม่?"

            "ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อเทศน์โปรดผมด้วย... ผมจะได้รู้จักวิธีทำบุญ"

            "คนเห็นผิดอย่างโยมนี้ โปรดไม่ได้หรอก เสียเวลาเปล่า ๆ" เมื่อถูกหลวงพ่อเหน็บเอาเช่นนี้ พ่อหนูผู้มากด้วยปฏิภาณและโวหาร จึงย้อนกลับไปว่า

            "คนในโลกนี้ ใครมีปัญญาและวิชาความรู้เลิศกว่าเขาทั้งหมด... พระพุทธเจ้าใช่ไหม... ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศจริง... หลวงพ่อก็เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า... ส่วนผมเป็นศิษย์พระยามาร เมื่อ เทศน์โปรดผมไม่ได้ ก็โง่กว่าพระยามารซี่"

            "ถ้าโยมอยากต้องการเช่นนี้จริง ๆ ก็ขอให้ตั้งใจฟัง จะให้ธรรมะไปคิดพิจารณา แล้วทดลอง ปฏิบัติตามดู จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ให้ทำดูก่อน เรื่องศาสนาที่พระสงฆ์เคยสอนมา โยมไม่เชื่อ ใช่ไหม?"

            "ใช่... ผมไม่อยากเชื่อใครเลย นอกจากตัวเอง"

            "ถ้าไม่เชื่อคนอื่นแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อตนเองด้วย" หลวงพ่อยกข้อเปรียบเทียบ

"โยมเป็นช่างไม้ ใช่ไหม..? เคยตัดไม้ผิดหรือเปล่า?"

            "เคยครับ"

            "เรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกัน โยมเคยคิดถูก ทำถูก หรือว่าคิดผิด มาใช่ไหม?"

            "ใช่... ทำถูกก็มี ทำผิดก็เคย" พ่อหนูยอมรับ

            "ถ้าอย่างนั้น ตัวเราเองก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะมันพาทำผิด พูดผิด คิดผิดได้เหมือนกัน..."
            พ่อหนูรู้สึกพอใจต่อเหตุผลของหลวงพ่อบ้าง จึงขอคำแนะนำว่า "ผมควรจะประพฤติตนอย่างไรดี?"

            "อย่าเป็นคนคิดสงสัยมาก และอย่าพูดมากด้วย" หลวงพ่อตอบสั้น ๆ

           หลังจากนั้น พ่อหนูจะไปอยู่ที่ไหน คำพูดของหลวงพ่อติดหู ติดใจ ตามไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่พยายามไม่ให้ใจคิด แต่ก็ยังคิด เมื่อคิดๆ ไป ก็ยิ่งเห็นจริงตามคำสอนของหลวงพ่อ และของ พระพุทธเจ้ามากขึ้นทุกที พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทางคัดค้านได้เลย

            ต่อมา พ่อหนูจึงคลายพยศ ลดมานะ ละทิฐิ ทิ้งนิสัยหัวรั้นหัวแข็ง เข้ามาฝากตัวเป็น ลูกศิษย์ของหลวงพ่อและของพระพุทธเจ้ามากขึ้น แล้วรักษาศีลห้าอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งฝึก ปฏิบัติภาวนา จนกลายเป็นพ่อหนูคนใหม่ ที่มีอัธยาศัยดี ช่วยกิจการงานวัดอย่างแข็งขัน ด้วย ความจริงใจตลอดมา

นอกจากปัญหาของพ่อหนูแล้ว ก็มีเหตุการณ์ไม่ดีหลายอย่าง ที่หลวงพ่อต้องใช้ความ อดทน และปัญญา รวมทั้งใช้สันติวิธีเข้าแก้ปัญหา

            ชาวบ้านบางกลุ่มโลภจัด พยายามจะบุกรุกเข้าครอบครองป่าพงเป็นที่ทำกิน แต่เมื่อมีพระ พำนักอยู่ ก็ทำอะไรได้ไม่สะดวก จึงวางแผนขับไล่ โดยจะใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือ ชาวบ้านบางคน รู้ข่าว จึงมากราบเรียนหลวงพ่อ

            "หลวงพ่อ อย่าให้พระไปบิณฑบาตบ้านนั้นองค์เดียวนะ มีคนเขาจะให้สาว ๆ มาดักกอด แล้วให้ร้องว่า ถูกพระข่มขืน"

            หลวงพ่อบอกกับโยมคนนั้นอย่างอารมณ์ดีว่า"เออ... ให้ผู้หญิงกอดสักทีก็ดีเหมือนกัน" ท่านได้ไปบิณฑบาตที่บ้านนั้นแทนพระรูปที่ไปประจำ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องราวค่อย ๆ เงียบหายไป

บางวันมีคนขี้เกียจมักง่าย เมื่อเห็นผักผลไม้ในวัดเกิดอยากได้ แต่ไม่อยากปลูกเอง ตอน แรก ๆ ทำทีเข้ามาขอ แต่หลายครั้งชักอายจึงใช้วิธีแอบมาขโมย หลวงพ่อใช้อุบายจับตัวขโมยมาได้ แล้วอบรมสั่งสอน

            "คราวหลังอย่าทำเช่นนี้อีกนะ มะละกอนี้ เอาไปกินก็ได้แค่วันสองวันแค่นั้นแหละ ถ้าเรา ขยันปลูกเอาเอง จะได้กินตลอดไป ต้องพยายามทำมาหากินด้วยความสุจริต จะได้ไม่เดือดร้อน และจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานด้วย"

ต่อมา ชาวบ้านแอบเอาสุนัขและแมวมาปล่อยในวัด พอรู้ตัวเจ้าของ หลวงพ่อเชิญเขามา ที่วัด แล้วชี้แจงเหตุผลให้ฟัง...

            "ที่วัดของเรามีกระรอก กระแต มีไก่ป่า และสัตว์หลายอย่าง อาตมาอยากสงวนเอาไว้ เพื่อ ลูกหลานเขาจะได้ดูได้เห็นบ้าง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น มันก็จะสูญพันธุ์ไป แล้วจะเหลืออะไรไว้ให้พวก เขา พวกหมาพวกแมวที่โยมเอามาทิ้งที่นี่ หากปล่อยไว้ มันก็จะกัดกินสัตว์ป่าตายหมด ขอให้พวก เราเอามันกลับคืนไปซะ แล้วมาช่วยกันรักษาสัตว์ป่าเอาไว้"

            ส่วนทางด้านฝ่ายพระสงฆ์สำนักอื่น ในสมัยนั้นยังมีความเข้าใจผิดต่อพระที่ดงป่าพงด้วย เหมือนกัน ถึงขนาดบอกให้ชาวบ้าน เอาขี้วัวแห้งกับเถาวัลย์ใส่บาตรให้หลวงพ่อ แต่ท่านไม่โต้ตอบ โดยยึดหลักว่า "เขาเกลียด ให้ทำดีตอบแทนเขา" พอถึงฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อก็พาพระเณรไป กราบคารวะ หรือหากมีสิ่งของเครื่องใช้ ก็นำไปถวายแก่พระเหล่านั้นด้วย ต่อมาเหตุร้ายต่างๆ นั้น ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี

ที่มา: หนังสือ "ใต้ร่มโพธิญาณ"
ชีวประวัติ หลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

Thursday, February 12, 2015

พุทโธ เป็นอย่างไร

หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่า พุทโธเป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า

เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำราหรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆ เข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกจากจิตของเรา

ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละมันดี คือ จิตมันสงบ

ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธ อยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไรแล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Tuesday, January 27, 2015

ใกล้ตาย จึงนึกถึงพระ มีทุกข์มาถึง จึงนึกถึงพระศาสนา

บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว มักไม่เห็นคุณพระศาสนา
มัวเมาประมาท ปล่อยกายปล่อยใจ ให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำนิสัย
เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ
จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

Sunday, January 25, 2015

ทิ้งเสีย

สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า

คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆ ที่สมัย ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง ๑๐๐ วันบ้าง แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ

ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ

หลวงปู่บอกว่า

"ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม"


ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

ตัวอย่างเปรียบเทียบ (เต่ากับปลา)

มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลก คือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด

วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟังว่า มันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ

ปลาพากันฟังด้วยความสนใจและอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า "บนบกนั้นลึกมากไหม"

เต่า: มันจะลึกอะไร ก็มันบก

ปลา: เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม

เต่า: มันจะคลื่นอะไร ก็มันบก

ปลา: เอ บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม

เต่า: มันจะมีอะไร ก็มันบก

ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

"จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา"


ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

"ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Saturday, January 24, 2015

โลกนี้มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั่นเอง

บางครั้งที่หลวงปู่สังเกตเห็นว่า ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจ เสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน จนไม่อยากละมาปฏิบัติธรรม ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า

"ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุขว่าตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น

พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาความสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัย หาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

นิทาน - กับดักแห่งความสุข

หนูตัวหนึ่งตกลงไปในถังข้าวสาร มันคิดว่าเรานี่โชคดีสุดๆ ไปเลย

ด้วยความดีใจ มันกินข้าวสารในถังนั้นอย่างอิ่มหมีพีมัน กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน เป็นอยู่อย่างนี้หลายวัน

วันแห่งความสุขมักผ่านไปอย่างรวดเร็วเสมอ วันหนึ่งตอนที่มันกินจนเห็นพื้นของถังข้าวสาร มันฉุกใจคิด แต่ข้าวสารในถังก็เป็นสิ่งที่ยั่วยวนเหลือเกิน มันกินจนข้าวสารในถังหมดไป

ถึงตอนนี้ มันจึงเพิ่งรู้ตัวว่า

การปีนออกจากถัง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป...

Friday, January 23, 2015

อยากได้ของดี

เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะนมัสการหลวงปู่เมื่อเวลา ๑๘.๒๐ น.

หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า
"ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ"

หลวงปู่จึงเจริญพรว่า "ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจาก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง"

"ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ"

หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า

"ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Tuesday, January 13, 2015

เนื้อกับเกลือ

...ทานจะเป็นทานบารมีที่ถูกต้อง ก็อาศัยการภาวนา  ศีลที่จะถูก ต้องอาศัยการภาวนา ภาวนานี้ท่านวาให้มันคุ้ม

ทานหรือศีลก็เหมือนกับเนื้อ   ภาวนาเหมือนกับเกลือ เนื้อมันจะอยู่ได้ มันไม่เน่าก็เพราะเกลือ ทานที่ถูกต้อง ศีลนั้นที่ถูกต้อง ก็เพราะการภาวนา

ฉะนั้น การภาวนานี้จึงเป็นคุณค่าอันล้ำเลิศประเสริฐมากที่สุดท้ายของบารมีทั้งหลายนั่นเอง แต่คนเราทานก็ได้ รักษาศีลก็ได้ แต่ว่าไม่ค่อยจะสมบูรณ์แบบ เพราะว่าขาดการภาวนา ขาดการภาวนา ภาวนานั้นเรียกว่า เป็นตัวเริ่มจะเป็นวิปัสสนา เพื่อจะให้มันรู้แจงแทงตลอดก็เพราะการภาวนา...

ที่มา: บางส่วนจากพระธรรมเทศนา "กุศลอันเลิศ"
หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

หลักปฏิบัติชั้นยอดที่สุด

ถ้าจะเอาดีกับพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ยึดพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก  พยายามปฏิบัติศีล ๕ ให้มันถูกต้อง อยู่กันที่ตรงนี้  ไม่ต้องไปไขว่คว้าอะไรให้มันมากนัก

           ๑. รักษาศีล ๕
           ๒. ทำกิจวัตร อุปัฏฐากเลี้ยงดูบิดามารดาให้ดี
           ๓. ฝึกสติสัมปชัญญะ ให้รู้อยู่ที่จิตตลอดเวลา  ถ้าเรามีสติรู้อยู่ที่จิต นั่นแหละ คือ พุทธะ ผู้รู้  พุทธะ ผู้ตื่น  พุทธะ ผู้เบิกบาน
 
ถ้าจับจุดนี้ได้แล้วสบายมาก ไปที่ไหนเราก็ไปกับพระพุทธเจ้า นั่ง นอน กิน อยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา  คนทั้งหลายศึกษาธรรมะ ไม่รู้จักจุดมัน ไม่รู้จักจุดที่จะเอาดี

เราต้องเอาดีกันตรงนี้ ตรงที่มีสติรู้จิตตลอดเวลา  ผู้ที่มีสติรู้จิตตลอดเวลา เป็นจิตพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะ

เมื่อทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเช่นนั้นตลอดเวลา ชื่อว่ามีพระธรรมอยู่ในใจ

เมื่อมีพระธรรมอยู่ในใจ พระธรรมก็คอยเตือนให้เรารู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี  เราจะตั้งใจละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดอยู่เสมอ

อันนี้คือหลักปฏิบัติชั้นยอดที่สุด

ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา