Saturday, December 20, 2014

ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่

พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี ๒๔๙๙ หลังฟังโอวาทและข้อธรรมะอันลึกซึ้งอื่นๆ แล้ว หลวงปู่สรุปใจความอริยสัจสี่ให้ฟังว่า

"จิตที่ส่งออกนอก    เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก    เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต    เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต    เป็นนิโรธ"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

รู้จากการเรียน กับรู้จากการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ที่กระผมจำจากตำราและฟังครูสอนนั้น จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือ

หลวงปู่อธิบายว่า

"ศีล คือ ปกติจิตที่อยู่ปราศจากโทษ เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง

สมาธิ ผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือจิตที่มีความมั่นคง มีความสงบเป็นพลัง ที่จะส่งต่อไปอีก

ปัญญา ผู้รู้ คือ จิตที่ว่าง เบาสบาย รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร

วิมุตติ คือ จิตที่เข้าถึงความว่าง จากความว่าง คือ ละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย"

ที่มา: หนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้"
บันทึกคติธรรมและพระธรรมเทศนา
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์

Thursday, December 18, 2014

ไปสู่สุคติได้เพราะศีล

...หัวใจของการบรรลุอริยมรรค อริยผล อยู่ที่ศีล ๕ ข้อ ถ้าศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์สะอาด ภาวนาไปถึงไหน จะสามารถสำเร็จฤทธิ์บินบน ล่องหนหายตัวได้ก็ไม่มีความหมาย ไม่พ้นจากนรก แต่ถ้าศีลบริสุทธิ์อย่างเดียว ภาวนาไม่เป็น ไม่ลงอบาย...

ที่มา: บางส่วนจากพระธรรมเทศนา
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

เริ่มที่ศีล ๕ ศีลอื่นๆ ตามมาเอง

ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่คู่ควรแก่การที่จะบำเพ็ญคุณความดี เพื่อให้เกิดมรรค ผล นิพพาน หรือรู้จริงเห็นจริงในธรรมะตามความเป็นจริง เราจะต้องอาศัยศีล ๕ เป็นพื้นฐาน อย่าเพิ่งทะเยอทะยานว่าเราจะต้องรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

เมื่อเรามีความมั่นใจในการรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พร้อมๆ กับทำสมาธิเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น ศีลอื่นๆ ซึ่งจำนวนมากกว่านั้น แม้เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเพิ่ม โดยกฎธรรมชาติแห่งความดีที่เราบำเพ็ญให้ถึงพร้อม เราจะเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

สุขได้ในยามป่วย

รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ฝึกสติให้เข้มแข็ง เมื่อสติเข้มแข็ง จิตของเราก็เข้มแข็งขึ้นด้วย เมื่อจิตกับสติเข้มแข็ง ร่างกายของเราก็เข้มแข็งขึ้นมาด้วย เมื่อจิตไม่หวั่นต่อความเป็นความตาย กายมันก็เข้มแข็ง นอนป่วยลุกไม่ขึ้น จิตมันก็เข้มแข็ง กำหนดภาวนาอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อได้ดี เพราะความเจ็บป่วยกับคนครหานินทา คนด่า ถ้ามีคนด่าว่าครหานินทาแล้ว เอาแล้ว! ทิฏฐิมานะมันขึ้น แต่มันไม่ไปต่อต้านหรือไปต่อสู้นะ เออ! เขาว่าเราไม่ดี เราจะต้องเอาดีให้ได้ เพราะฉะนั้น โบราณจึงพูดเป็นคำพังเพยไว้ว่า "อุปสรรคคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง"

ความเจ็บป่วยคืออุปสรรคที่สำคัญที่สุดของชีวิต ในเมื่อเราต่อสู้กับความเจ็บป่วยอันเป็นอุปสรรค เรามีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ จดจ่ออยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นสุข เราไม่ต้องไปนึกคิดพิจารณาให้มันลำบากใจ เพราะความจริงมันปรากฏแก่เราอยู่แล้วทุกลมหายใจ ทุกขณะจิต เรากำหนดจิตดูมันเท่านั้น สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ ความโศกเศร้า ความโทมนัสน้อยใจ หรือความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรที่มีอยู่ในใจเรา เราก็รู้ เมื่อเรามีสติอ่านลงไปดู พระไตรปิฎกมันอยู่ในใจนี่

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

อย่ากลัวติดดี

การติดดี ไม่ต้องปล่อยวาง ในเมื่อมันติดแล้ว ก็จะขยันหมั่นเพียรมากขึ้น การขยันหมั่นเพียร ผลงานมันก็เกิดขึ้นๆ ๆ ในที่สุด ผลครั้งสุดท้าย ก็คือไม่ติดอะไร มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ถ้าเป็นสิ่งดี จิตจะติดแค่ไหนปล่อยให้มันติดไป ถ้าติดไหว้พระสวดมนต์ วันหนึ่งไม่ได้ไหว้พระสวดมนต์ มันนอนไม่หลับนั่นแหละยิ่งดี วันหนึ่งไม่ได้นั่งสมาธินอนไม่หลับยิ่งดี

เราภาวนาพุทโธๆ ๆ ๆ ๆ เพื่อให้จิตมาติดอยู่กับพุทโธ เมื่อมาติดอยู่กับพุทโธสิ่งเดียว มันก็ละวางสิ่งอื่น มาอยู่ที่พุทโธอย่างเดียว

มันก็เหมือนๆ กันกับเราถือสัมภาระทั้งหลาย เราถือของหลายอย่างพะรุงพะรัง หิ้วหน้าหิ้วหลัง มันก็ลำบาก

แต่ถ้าเราหิ้วของสิ่งเดียว มันเบา

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

อุบายสร้างครอบครัวแสนสุข

ความสุขที่สดชื่นสำหรับครอบครัว คือสามีภรรยารักและเมตตาสงสารซึ่งกันและกัน นี่จุดใหญ่มันอยู่ที่ตรงนี้

พยายามปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่าระแวงสงสัยซึ่งกันและกัน ทุกคนให้ตั้งอยู่ในศีล ๕
ศีล ๕ ระหว่างเราสองคนนี่แหละ ไม่ต้องไปเอาอื่นไกล

ถ้าปฏิบัติได้ รับรองว่ามีความสุขเยือกเย็น สบาย
ถ้าเกิดระแวงสงสัยซึ่งกันและกันขึ้นมาเมื่อไร เราจะทุกข์เมื่อนั้น อุบายวิธีก็มีแค่นี้

ขอให้ปฏิบัติจริงเถอะ รับรองว่าสุขจริงๆ  นอกจากจะสุขแล้ว ผลพลอยได้ ทรัพย์สินเงินทองมันจะค่อยทยอยมาๆ ตามบุญบารมีของเรา

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

Wednesday, December 17, 2014

ตามรอยพระพุทธองค์

การปฏิบัติธรรม สำคัญอยู่ที่ความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ อย่างต่ำคือศีล ๕

ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในระดับความเป็นคฤหัสถ์ ตั้งใจปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของศีล ๕ ข้อ สะดวกสบายดีกว่านักบวช เพราะว่าภาระกังวลที่จะต้องสังวรน้อยกว่ากัน

เพียงแต่เรายึดหลักว่า
พระพุทธเจ้าทรงฆ่าไม่เป็น   เราไม่ฆ่า
พระพุทธเจ้าทรงลักขโมยไม่เป็น   เราไม่ลักขโมย
พระพุทธเจ้าทรงฉ้อโกงไม่เป็น   เราไม่ฉ้อโกง
พระพุทธเจ้าทรงไม่ละเมิดสิทธิประเวณีของใครต่อใคร   เราก็ไม่ละเมิดประเวณีของท่านผู้อื่น
พระพุทธเจ้าทรงไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้แตกสามัคคี ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล และไม่โกหก
เราก็ปฏิบัติตามอย่างพระองค์ท่าน
พระพุทธเจ้าไม่ทรงดื่มน้ำดองของเมา หรือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเมา หรือความมัวเมาอันเป็นทางแห่งความประมาท
เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงทำเช่นนั้น เราก็ไม่ทำ

เรายึดหลักศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อขจัดสิ่งที่เราจะพึงทำตามอำนาจของกิเลส

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

Tuesday, December 16, 2014

อย่าแสวงหาที่พึ่งภายนอก

คนเรามีของดีอยู่ในตัว แต่ไม่เชื่อมั่นในตนเอง จึงแสวงหาที่พึ่งภายนอกอยู่เรื่อยไป
ของดีในตัวเอง คือ กาย กับ จิต
ธรรมชาติของจิตจะเป็นผู้รู้

กายและจิต เราสามารถฝึกฝนอบรมให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งได้
เช่น การทำงาน การเล่นกีฬา เป็นการฝึกกายให้มีพลัง ให้มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง
กีฬาทางจิต คือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก

จงพยายามหาที่พึ่งให้ตนเอง
คนที่หาพึ่งแต่คนอื่น จะพบแต่ความหลอกลวง

การฝึกจิตให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ คือ "การฝึกสติ"
การปฏิบัติธรรมตามแนวของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง อยู่ที่การสร้างจิตของตัวเองให้มีพลังเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะรู้รอบอยู่ที่ตัวเอง สามารถยืนหยัดอยู่ในความเป็นอิสระได้ตลอดกาล ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอะไร

ที่มา: หนังสือ "สะอาด"
พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

Friday, December 12, 2014

Zen - ภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำ

Before you study Zen, mountains are mountains and rivers are rivers; while you are studuing Zen, mountains are no longer mountains and rivers are no longer rivers; but once you have had enlightenment mountains are once again mountains and rivers again rivers.

Zen saying.

"ก่อนที่ท่านจะศึกษาเซน
ภูเขาเป็นภูเขา และแม่น้ำก็คือแม่น้ำ

ในขณะที่ท่านศึกษาเซน
ภูเขาไม่เป็นภูเขา และแม่น้ำมิใช่แม่น้ำ

แต่เมื่อตรัสรู้
ภูเขากลับเป็นภูเขา และแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ"

สิ่งที่ควรเข้าใจ ในการทำบุญ


“บุญ ทำอย่างไร ต้องเข้าใจให้ดีก่อน”

พอพูดถึงเรื่องทำบุญ มีหลายประโยคคุ้นหู ที่เราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง  เช่น

“อยากทำบุญ ... แต่ไม่ค่อยมีเวลา”

“อยากทำบุญ ... แต่เงินไม่ค่อยมี”

 “อยากทำบุญ ... แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้าวัดเลย”

 

คำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ เข้าใจเรื่องการทำบุญในความหมายที่แคบเกินไป

โดยมากยังคิดว่า “ทำบุญ” หมายถึง การทำทาน (บริจาค) ทรัพย์สิน, สิ่งของ เท่านั้น

 

          ความเป็นจริงก็คือ บุญนั้นเราสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจ

และการทำบุญก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเงินแล้วถึงจะทำได้ บุญบางอย่างเราสามารถทำได้โดย

ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ซึ่งมีคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่แล้วในพระไตรปิฎก ลองมาดูกัน

 

... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย  คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข อันน่าปรารถนา  น่าใคร่  น่ารัก  น่าพอใจ ...

... กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล  อันสูงสุดต่อไปซึ่งมีสุขเป็นกำไร  คือ พึงเจริญทาน  ๑  ความประพฤติสงบ  ๑ เมตตาจิต  ๑

บัณฑิตครั้นเจริญธรรม  ๓  ประการอันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว  ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน  เป็นสุข. ...

ที่มา: “ปุญญสูตร” ขุททกนิกาย อิติวุตตก

- - -
... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้
๓ ประการเป็นไฉน ?  คือ

ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑

สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑

ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ๑ ...

ที่มา: “ปุญญกิริยาวัตถุสูตร” ขุททกนิกาย อิติวุตตก

- - -
" ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้,    พึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ   พึงทำความพอใจในบุญนั้น,
เพราะว่า  ความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข. "

ที่มา: ขุททกนิกาย ธรรมบท

 

“ทาน”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ทาน  ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ

อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑
ทาน ๒ อย่างนี้แล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บรรดาทาน  ๒ อย่างนี้  ธรรมทานเป็นเลิศ.

ที่มา: อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต

 
- - -
“ศีล”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมเป็นผู้เหมือนถูกฝังไว้ในนรก 

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ  บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์  ๑  เป็นผู้มักลักทรัพย์  ๑  เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม ๑ เป็นผู้มักพูดเท็จ  ๑  เป็นผู้มักดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกฝังไว้ในนรก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ  ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกเชิญไปอยู่ในสวรรค์ 

ธรรม  ๕ ประการเป็นไฉน  คือ  บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต  ๑  เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน ๑ เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๑ เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท  ๑ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกเชิญไปอยู่ในสวรรค์.

ที่มา: “นิรยสูตร” อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต

 

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการภาวนา ...

คนส่วนมากคิดว่าการภาวนาคือการอ้อนวอนขอสิ่งที่ตนปรารถนา

เช่นได้ยินข่าวอุบัติเหตุก็ว่า “เจ้าประคู้ณ ... ภาวนาขอให้ปลอดภัย อย่าให้เป็นอะไรมากเลย”

 

เพราะความเคยชินของชาวไทย เมื่อทำบุญไหว้พระเสร็จ ก็ชอบขอนั่น ขอนี่ เช่น ขอให้ร่ำรวย ขอให้ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ขอความเป็นสิริมงคล ฯลฯ

จริงๆ แล้ว คำว่า “ภาวนา” แปลว่า การเจริญ , การทำให้เกิดมีขึ้น

แล้วธรรมอะไรล่ะ ที่เราควรเจริญ ? คำตอบคือ ...

 

“ภาวนา”

ธรรม ๒ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน. คือ สมถะ และวิปัสสนา

ธรรม ๒  อย่างเหล่านี้  ควรเจริญ.

ที่มา: ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

- - -
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา

ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน  คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว   ย่อมเสวยประโยชน์อะไร  ย่อมละราคะได้

วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร  ย่อมอบรมปัญญา  ปัญญาที่อบรมแล้ว  ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้

ที่มา: อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต

 

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ ประการนี้ จะยิ่งย้ำให้เรามั่นใจได้ว่า

“ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนขอ แต่เป็นศาสนาแห่งการลงมือทำ”

ปรารถนาสิ่งใด ต้องทำเหตุให้ถูกตรง เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

“ทำดี = ได้ดี , ทำชั่ว = ได้ชั่ว”

          จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รวมความได้ว่า บุญ คือ ความสุข,ความดี ที่เกิดจากความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และการภาวนานั้นเป็นการทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงินเลย แถมยังได้อานิสงส์มากอีกด้วย

 

รู้อย่างนี้แล้วอย่าได้รอช้า เร่งทำทาน รักษาศีล ภาวนา สร้างบุญกุศลกันเถอะ ...

 

ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด อ้างอิงจาก  พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ต้นคือปลาย

เมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเอง
ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ 

เหมือนกับต้นไม้
อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย 
เมื่อมีปลายมันก็มีโคน
ไม่มีโคน ปลายก็ไม่มี มีปลายก็ต้องมีโคน
มีแต่ปลาย โคนไม่มีก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็นึกขำเหมือนกันนะ
มนุษย์เราทั้งหลายเมื่อจะตายแล้วก็โศกเศร้า วุ่นวาย
นั่งร้องไห้เสียใจสารพัดอย่าง หลงไปสิโยม โยมมันหลงนะ
พอคนตายก็ร้องไห้พิไรรำพัน
แต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยได้พิจารณาให้ชัดแจ้งนะ ความเป็นจริงแล้ว
อาตมาขอโทษด้วยนะ อาตมาเห็นว่า ถ้าจะร้องไห้กับคนตายน่ะ
ร้องไห้กับคนที่เกิดมาดีกว่า แต่มันกลับกันเสีย
ถ้าคนเกิดมาแล้ว โยมทั้งหลายก็หัวเราะดีอกดีใจกันชื่นบาน
ความเป็นจริงเกิดนั่นล่ะคือตาย ตายนั่นล่ะก็คือเกิด

ต้นก็คือปลาย ปลายก็คือต้น

ที่มา: หนังสือ "เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต"
พระธรรมเทศนา หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

กะละมังคว่ำ

เมื่อเราละบาปแล้ว บำเพ็ญบุญเพิ่มเข้ามาทีละน้อย ก็มีหวังที่บารมีจะเต็มได้ เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง แม้ฝนจะตกมาใส่ทีละหยด ๆ มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้

เมื่อเราทำบุญ แต่ยังไม่ละบาป ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปคว่ำไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน แต่มันถูกข้างนอก ไม่ถูกข้างใน น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มกะละมังนั้นได้

ที่มา: หนังสือ "เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต"
พระธรรมเทศนา หลวงปู่ชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

คุณยายเจ้าปัญญา

มีคุณยายคนหนึ่งอาศัยอยู่กับหลานสองคน ทุกวันหลานทั้งสองจะออกไปเที่ยวเล่นสนุกสนานตามห้างสรรพสินค้า ตามบาร์ โรงหนัง โรงละคร ทิ้งให้คุณยายอยู่บ้านคนเดียว พอคุณยายห้ามปราม หลาน ๆ ก็ตอบว่า

"แหมทำงานมาเหน็ดเหนื่อย ก็ขอออกไปหาความสุขบ้างสิ"

กลางดึกวันหนึ่ง หลานทั้งสองกลับถึงบ้าน เห็นคุณยายกำลังเดินก้ม ๆ เงย ๆ อยู่หน้าบ้าน ถามได้ความว่า คุณยายกำลังหาเข็มเย็บผ้าที่ทำตกไป หลานทั้งสองถามว่า คุณยายทำเข็มหล่นตรงไหน จะได้ช่วยหาให้เจอ

คุณยายรีบตอบทันที "อ๋อ ยายน่ะทำเข็มหล่นตรงหน้าเตียงในห้องนอนจ้ะ"

"อ้าว แล้วยายมาหาตรงนี้ทำไมละจ๊ะ" หลานถาม

"ก็ยายเห็นว่า ตรงนี้น่ะไฟมันสว่างดี เผื่อจะเจอได้ง่าย ๆ"

เท่านั้นเอง หลานทั้งสองก็ลงนั่งหัวเราะจนท้องแข็ง

"ยายจ๋า ยายงงหรือเปล่า เข็มหล่นในห้อง แล้วมาหาที่ใต้เสาไฟฟ้าเนี่ยนะ"

คุณยายตอบกลับทันที "ทำไมจะไม่ได้ล่ะหลานรัก ก็ทีหลานน่ะ ทำความสุขหล่นหายไปจากใจ ยังไปเที่ยวหาตามผับ ตามบาร์ ตามห้างได้ทุกวัน"


ที่มา: หนังสือ "เข็มทิศชีวิต" โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง

นิทาน Zen - กำจัดวัชพืช

อาจารย์เซนท่านหนึ่งกำลังจะละสังขาร บรรดาสานุศิษย์ต่างพากันมานั่งห้อมล้อมดูใจอาจารย์ รอคอยว่าอาจารย์จะสั่งสอนอะไรพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย
       
       อาจารย์เซนไม่เอ่ยวาจา หลับตานิ่ง จากนั้นสักพักจึงเอ่ยถามเหล่าสานุศิษย์ว่า
       
       "ทำอย่างไรจึงจะกำจัดวัชพืชออกจากพื้นที่โล่งนี้ได้?"
       
       บรรดาสานุศิษย์ต่างนิ่งงัน เพราะคิดไม่ถึงว่า อาจารย์เซนจะถามคำถามพื้นๆ เช่นนี้ออกมาได้
       
       ศิษย์ผู้หนึ่งเอ่ยตอบว่า "ใช้จอบเสียมแซะขุดทำลายวัชพืชทิ้งไปให้หมด"
       
       เมื่ออาจารย์เซนได้ฟัง เพียงอมยิ้มไม่กล่าวกระไร
       
       ศิษย์อีกผู้หนึ่งตอบว่า ใช้ไฟเผา วัชพืชทั้งหมดย่อมถูกทำลายไป"
       
       อาจารย์เซนได้ฟังแล้ว ยังคงไว้ซึ่งรอยยิ้ม พร้อมกับผงกหัวเล็กน้อย
       
       ศิษย์คนที่สามตอบว่า "ใช้ปูนขาวโรยบนวัชพืชให้ทั่ว เท่านี้บรรดาวัชพืชก็จะตายหมด"
       
       อาจารย์เซนยังคงมีปฏิกริยาเช่นเดิม
       
       ศิษย์คนที่สี่เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า "วิธีการของพวกเขาล้วนไม่ถูกต้อง เพราะล้วนไม่ได้กำจัดถึงรากวัชพืช การกำจัดวัชพืชที่ถูกต้อง ต้องถอนรากถอนโคน"
       
       เมื่อเหล่าสานุศิษย์ต่างหมดคำตอบแล้ว อาจารย์เซนจึงเอ่ยว่า "พวกเจ้าล้วนตอบได้ดี ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป พวกเจ้าจงแบ่งที่ดินผืนนี้ออกเป็นส่วนๆ แล้วใช้วิธีการที่แต่ละคนได้เสนอมาในการกำจัดวัชพืชส่วนของใครของมัน แล้ววันนี้ของปีหน้า พวกเจ้าจงมารวมตัวกันที่นี่อีกครั้ง"
       
       หนึ่งปีผ่านไป เหล่าสานุศิษย์ต่างมารวมตัวกันอีกครั้ง แต่พื้นที่ซึ่งเดิมเต็มไปด้วยวัชพืชนั้นไม่มีแล้ว กลับกลายเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารเหลืองอร่ามไปทั่วผืนดิน
       
       เนื่องจากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บรรดาสานุศิษย์ใช้วิธีการต่างๆ นานา แต่ก็ไม่สามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างหมดจด จึงพากันละทิ้งภารกิจของตนไป สุดท้ายอาจารย์จึงได้ปลูกพืชพันธุ์ที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรลงไปแทนที่ เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชเติบโตขึ้นมาอีก
       
       ยามที่เหล่าศิษย์มารายล้อมอยู่นั้น พืชพันธุ์ทั้งหลายต่างกำลังสุกงอมเต็มที่ ทว่าอาจารย์เซนได้ล่วงลับดับขันธ์ไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว
       
       คำสอนสุดท้ายที่อาจารย์ได้ทิ้งไว้ให้เหล่าสานุศิษย์ก็คือ วิธีกำจัดวัชพืชที่ได้ผลที่สุด มีเพียงวิธีเดียวคือ ปลูกพืชพันธุ์ที่ใช้การได้ทับลงไปแทนที่ ส่วนวิธีการที่จะทำให้จิตวิญญาณของตนไม่ว่างเปล่า คือปลูกฝังด้วยคุณธรรมอันดีงามเท่านั้น
       


แทนที่สิ่งเลวร้ายในใจ ด้วยความคิดดีๆ

พึงชนะความชั่ว  ด้วยความดี...

สวดมนต์ให้เย็น

บทสวดมนต์ที่เราจะยึดเป็นหลัก วิธีปฏิบัติ ถ้าเรามีดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระพุทธรูป ก็ให้กล่าวคำว่า ...

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ


อันนี้เป็นคำบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อโน้มน้าวจิตของเราให้มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันดับต่อไปก็ ...

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบทีหนึ่ง)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบทีหนึ่ง)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบทีหนึ่ง) 

ทีนี้ก็มาสำรวมจิตให้แน่วแน่ต่อคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กล่าวนะโม ๓ จบ 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 


ต่อไปสำรวมจิต สวดบทอิติปิโสฯ 

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ (กราบทีหนึ่ง) 


แล้วสวดบทสวากขาโตฯ และสุปฏิปันโนฯ ต่อไป 

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก
โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (กราบทีหนึ่ง) 


สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ (กราบทีหนึ่ง) 


ทีนี้อันดับต่อไปก็ตั้งใจเจริญพรหมวิหาร 

อะหัง สุขิโต โหมิ
นิททุกโข โหมิ
อะเวโร โหมิ
อัพยาปัชโฌ โหมิ
อะนีโฆ โหมิ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ


อันนี้บทเมตตาตน ต่อไปก็แผ่เมตตาสัตว์ 

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ
สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ
สัพเพ สัตตา สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ 


นี่บทแผ่เมตตา ทีนี้ก็สวดบทกรุณาต่อไป 

สัพเพ สัตตา สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ
สัพเพ สัตตา ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ 


อันนี้ เป็นบทมุทิตา ทีนี้สวดบทอุเบกขาต่อไป 

สัพเพ สัตตา กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา
กัมมะโยนี กัมมะพันธู กัมมะปะฏิสสะระณา
ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ. 


อันนี้เป็นยอดแห่งบทสวดมนต์ ให้ทุกคนพยายามท่องจำให้ได้ แล้วพยายามสวดทุกวันๆ ทั้งเวลาเช้าเวลาเย็น ถ้ามายึดบทสวดตามที่กล่าวนี้อย่างมั่นคงแล้วก็ตั้งใจสวดอย่างต่อเนื่องกัน ทุกวันๆ ไม่ต้องไปสวดคาถาบทอื่นก็ได้ ให้สวดเฉพาะเท่าที่กล่าวมานี้ ทำจิตให้มั่นคงต่อบทสวดนี้อย่างแน่วแน่ ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก คาถาชินบัญชร หรือคาถาอื่นๆ นี้ ไม่จำเป็นต้องสวดก็ได้ 


มีนายคนหนึ่งมาหาหลวงพ่อเมื่อ ๒-๓ วันมานี่ เขามาปรึกษาว่า "ทำไมผมยิ่งสวดมนต์ ขยันสวดมนต์ สวดคาถาชินบัญชรวันละ ๙ จบ ๑๐ จบ บทอื่นก็หลายจบ หนังสือยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกนี่ผมจำได้และสวดได้หมดทุกตัว ผมนั่งสวดมนต์อยู่เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ยิ่งสวดมนต์ไปเท่าไรแทนที่ว่าจิตมันจะเย็นลง มันกลับทำให้ร้อน นอกจากมันจะทำให้ร้อนแล้ว ผมกับภรรยาของผมต่างคนต่างสวดเก่งเหมือนกัน แต่พอออกจากห้องพระมาแล้วหาเรื่องทะเลาะกันทุกที ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้นหลวงพ่อ" 


หลวงพ่อก็บอกว่า "บทสวดมนต์ตามที่คุณสวด มันมีแนวโน้มไปในทางไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์นี่ ถ้าเกิดสวดมาก ๆ เข้า มันเกิดมีอาถรรพณ์ มันเป็นพลังมนต์ครอบคลุมจิต มนต์ไสยศาสตร์ทำให้เกิดพลังร้อน เมื่อเกิดพลังร้อนแล้วมันก็อยากจะลองของ ในเมื่อหาใครที่จะมาเป็นคู่ปะทะหรือทะเลาะไม่ได้ก็ทะเลาะกันเอง คนบางคนสวดมนต์ทางไสยศาสตร์ ยิ่งสวดมากเท่าไรจิตใจก็ยิ่งโหดเหี้ยม นั่งสมาธิภาวนาสวดมนต์เวลาค่ำคืน ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่ม พอออกจากที่สวดมนต์ ที่นั่งสมาธิมาแล้วมาทุบตีเมียของตัวเอง อันนี้มันเป็นเพราะพลังมนต์ไสยศาสตร์บันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น 


มนต์อันใดที่มีแนวโน้มไปในทางไสยศาสตร์ มนต์อันนั้นทำให้จิตร้อน เพราะมันมีพลังร้อน แต่พลังของพระพุทธคุณธรรมคุณ สังฆคุณ พลังพรหมวิหาร มันทำให้เกิดพลังเย็น เป็นไปเพื่อผูกมิตรไมตรีกับสิ่งทั้งปวง ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่พาลหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน" 


เพราะฉะนั้น ให้นักเรียนทุกคนจำเอาไว้ ...

"บทสวดมนต์ที่วิเศษที่สุดก็คือ
พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แล้วก็แผ่เมตตา"

ทีนี้เมื่อแผ่เมตตาเสร็จแล้ว จะนั่งสมาธิภาวนาก็นั่งต่อไป เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ก่อนจะลุกจากที่นั่งสมาธิ ให้น้อมจิตน้อมใจอธิษฐานถึงบุญบารมีที่เราได้ปฏิบัติมา แล้วก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ตลอดทั้งสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ตลอดทั้งเจ้ากรรมนายเวร ขอให้มารับส่วนบุญที่เกิดจากการปฏิบัติของข้าพเจ้านี้


ที่มา: พระธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา