“บุญ ทำอย่างไร ต้องเข้าใจให้ดีก่อน”
พอพูดถึงเรื่องทำบุญ มีหลายประโยคคุ้นหู ที่เราน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง เช่น
“อยากทำบุญ ... แต่ไม่ค่อยมีเวลา”
“อยากทำบุญ ... แต่เงินไม่ค่อยมี”
“อยากทำบุญ ... แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้าวัดเลย”
คำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ เข้าใจเรื่องการทำบุญในความหมายที่แคบเกินไป
โดยมากยังคิดว่า “ทำบุญ” หมายถึง การทำทาน (บริจาค) ทรัพย์สิน, สิ่งของ เท่านั้น
ความเป็นจริงก็คือ บุญนั้นเราสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจ
และการทำบุญก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเงินแล้วถึงจะทำได้ บุญบางอย่างเราสามารถทำได้โดย
ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ซึ่งมีคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่แล้วในพระไตรปิฎก ลองมาดูกัน
... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ...
... กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันสูงสุดต่อไปซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ ความประพฤติสงบ ๑ เมตตาจิต ๑
บัณฑิตครั้นเจริญธรรม ๓ ประการอันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข. ...
ที่มา: “ปุญญสูตร” ขุททกนิกาย อิติวุตตก
- - -
... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้
๓ ประการเป็นไฉน ? คือ
ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑
สีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑
ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ๑ ...
ที่มา: “ปุญญกิริยาวัตถุสูตร” ขุททกนิกาย อิติวุตตก
- - -
" ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้, พึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น,
เพราะว่า ความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข. "
ที่มา: ขุททกนิกาย ธรรมบท
“ทาน”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้
๒ อย่างเป็นไฉน คือ
อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑
ทาน ๒ อย่างนี้แล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ.
ที่มา: อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
- - -
“ศีล”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการย่อมเป็นผู้เหมือนถูกฝังไว้ในนรก
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ๑ เป็นผู้มักลักทรัพย์ ๑ เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม ๑ เป็นผู้มักพูดเท็จ ๑ เป็นผู้มักดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกฝังไว้ในนรก.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกเชิญไปอยู่ในสวรรค์
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑ เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทาน ๑ เป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๑ เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท ๑ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เหมือนถูกเชิญไปอยู่ในสวรรค์.
ที่มา: “นิรยสูตร” อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการภาวนา ...
คนส่วนมากคิดว่าการภาวนาคือการอ้อนวอนขอสิ่งที่ตนปรารถนา
เช่นได้ยินข่าวอุบัติเหตุก็ว่า “เจ้าประคู้ณ ... ภาวนาขอให้ปลอดภัย อย่าให้เป็นอะไรมากเลย”
เพราะความเคยชินของชาวไทย เมื่อทำบุญไหว้พระเสร็จ ก็ชอบขอนั่น ขอนี่ เช่น ขอให้ร่ำรวย ขอให้ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ขอความเป็นสิริมงคล ฯลฯ
จริงๆ แล้ว คำว่า “ภาวนา” แปลว่า การเจริญ , การทำให้เกิดมีขึ้น
แล้วธรรมอะไรล่ะ ที่เราควรเจริญ ? คำตอบคือ ...
“ภาวนา”
ธรรม ๒ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน. คือ สมถะ และวิปัสสนา
ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ ควรเจริญ.
ที่มา: ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
- - -
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา
ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้
ที่มา: อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต
บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ ประการนี้ จะยิ่งย้ำให้เรามั่นใจได้ว่า
“ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนขอ แต่เป็นศาสนาแห่งการลงมือทำ”
ปรารถนาสิ่งใด ต้องทำเหตุให้ถูกตรง เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
“ทำดี = ได้ดี , ทำชั่ว = ได้ชั่ว”
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รวมความได้ว่า บุญ คือ ความสุข,ความดี ที่เกิดจากความประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และการภาวนานั้นเป็นการทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงินเลย แถมยังได้อานิสงส์มากอีกด้วย
รู้อย่างนี้แล้วอย่าได้รอช้า เร่งทำทาน รักษาศีล ภาวนา สร้างบุญกุศลกันเถอะ ...
ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด อ้างอิงจาก พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย